มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยกทีมนักวิจัยคว้ารางวัลระดับนานาชาติส่งท้ายปีในงาน Seoul International Invention Fair 2017 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2560 โดยมีผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลดังนี้
1. ผลงานวิจัยเรื่อง อุปกรณ์วัดกำหนดตำแหน่งก่อนการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตา ของ นางดวงรัตน์ หมายดี คณะแพทยศาสตร์ ได้รับรางวัล Gold Prize และรางวัล Special Prize จาก Korea Patent Attorneys Association
2. ผลงานวิจัยเรื่อง ตัวดูดซับคอมโพสิทชนิดใหม่ อนุภาคแม่เหล็กนาโน ท่อนาโนคาร์บอนผนังหลายชั้นและอัลจิเนตสำหรับวิเคราะห์สารพิษโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ของ ผศ.ดร.โอภาส บุญเกิด และ รศ.ดร.เพริศพิชญ์ คณาธารณา คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัล Gold Prize
3. ผลงานวิจัยเรื่อง ผลิตภัณฑ์น้ำมันทำความสะอาดเครื่องสำอางจากน้ำมันเมล็ดยางพารา ของ รศ.ดร.ธนภร อำนวยกิจ , ผศ.ดร.สิริรัศมิ์ ปิ่นสุวรรณ และนายปณิธิ รักนาม คณะเภสัชศาสตร์ ได้รับรางวัล Gold Prize
4. ผลงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาโฟมยางพาราผสมสารล่อแมลงเพื่อการควบคุมแมลงวันผลไม้ ของ ผศ.ดร.นริศ ท้าวจันทร์ , ผศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี , รศ.ดร.อรัญ งามผ่องใส , นางสาวยาวารีย๊ะห์ สาเมาะ , นางสาวรูเฟียะห์ มะลี และ นางสาวคอฎีย๊ะ เถาวัลย์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ได้รับรางวัล Gold Prize
5. ผลงานวิจัยเรื่อง ปากกาชุบเคลือบผิวและกัดผิวด้วยไฟฟ้าแบบพกพา ของ ผศ.ดร.วรากร ลิ่มบุตร , รศ.ดร.เพริศพิชญ์ คณาธารณา และ รศ.ดร.ปณต ถาวรังกูร ได้รับรางวัล Bronze Prize และรางวัล Special Award จาก Indonesian Invention and Innovation Promotion Association
6. ผลงานวิจัยเรื่อง เครื่องผลิตไบโอดีเซลแบบต่อเนื่องด้วยเครื่องปฏิกรณ์คลื่นเสียงอัลตราโซนิกความถี่ต่ำชนิดแคลมป์ท่อ ของ ผศ.ดร.กฤช สมนึก , รศ.กำพล ประทีปชัยกูร , นายทนงศักดิ์ ประสิทธิ์ และนายดุลยาวัชร์ พันธุ์ยูโซ๊ะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับรางวัล Bronze Prize
สำหรับงาน Seoul International Invention Fair 2017 หรือที่รู้จักกันในชื่อ SIIF 2017 เป็นงานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ จัดโดยศูนย์นิทรรศการ COEX Korea Exhibition Center ซึ่งภายในงานมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ในอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจาก 43 ประเทศทั่วโลก เป็นช่องทางทางการตลาดให้กับผลงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นทำให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างช่องทางให้นักวิจัย/นักประดิษฐ์ไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับนักวิจัย/นักประดิษฐ์ต่างประเทศ จึงถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากที่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ไปแสดงศักยภาพผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในงานดังกล่าว